Powered By Blogger

Friday, April 7, 2023

          ประวัติพระแก้วมรกต

พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในปี พุทธศักราช ๕๐๐ โดยพระนาคเสนเถระ แห่งวัดอโศการาม กรุงปัฏนา ในแผ่นดินของพระเจ้ามิลินท์ (เมนันเดอร์) ในประเทศอินเดีย  พระนาคเสนเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในเรื่องการโต้วาทะ  ท่านสามารถโต้วาทะเอาชนะพระยามิลินท์ผู้หยิ่งผยองว่าไม่มีใครจะสามารถโต้วาทีเอาชนะพระองค์ได้  พระนาคเสนองค์นี้นี่แหละที่สามารถโต้วาทีกับพระยามิลินท์จนทำให้พระยามิลินท์ไม่สามารถโต้ตอบอะไรกับท่านต่อไปได้ต้องยอมรับนับถือท่านอย่างราบคราบเลยทีเดียว

  เมืองปัฏนา Patna ที่พระานคเสนเกิดเรียกชื่อต่างๆได้อีกหลายชื่อ เช่น "ปาตลีบุตร, ปาฏลีบุตร, ปัตนะ, มคธ" เป็นเมืองหลวงของรัฐพิหาร  Bihar ปัฏนาเป็นเมืองเก่าแก่ที่ยังมีผู้อาศัยอยู่ต่อเนื่องมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเมื่อ 2,500 ปีก่อน ในสมัยพุทธกาล เมืองแห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ในแคว้นมคธ ที่ตั้งขึ้นโดยพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านสำหรับการเตรียมทำสงครามกับแคว้นวัชชี หลังจากพุทธกาลล่วงไปแล้ว เมืองนี้มีความสำคัญ เพราะได้กลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธและมีพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย คือพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ทรงอุปถัมภ์การทำตติยสังคายนา ณ อโศการาม โดยให้เมืองปัฏนา (หรือปาตลีบุตรตามที่เรียกกันในสมัยนั้น) เป็นศูนย์กลางในการส่งสมณทูตออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังดินแดนอื่น ๆ ทั่วโลก รวมทั้งสุวรรณภูมิด้วย

  เมื่อพระนาคเสนท่านมีอายุมากขึ้นท่านมีความปราถนาจะสร้างพระพุทธรูปให้ยุวชนรุ่นหลังได้เห็นพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการสริมสร้างศรัทธาให้เจริญยิ่งๆขึ้นไปในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ทานคิดว่าถ้าสร้างพระพุทธรูปด้วยเงินหรือทองคำ มันจะทำให้คนได้เห็นแล้วเกิดความโลภขึ้นในใจได้ อาจจะคิดทำบาปอกุศลกับพระพุทธรูปก็ได้  จะต้องสร้างด้วยแก้วดีกว่าจะปลอดภัยดีถ้าสร้างด้วยแก้วก็อยากได้แก้วดีๆมีลักษณะพิเศษมาสร้าง ท่านคิดว่า "จะหาแก้วดีๆที่ไหนหนอมาสร้าง"

  พอท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ทรงทราบจุดประสงค์ของท่านแล้วจึงได้เนรมิตรกายเป็นช่างแก้วทีมีความเชี่ยวชาญมารับอาสาหาแก้ววิเศษมาถวายท่าน พอพระเถระเห็นช่างแก้วแล้วก็รู้ได้ทันทีว่าท่านผู้นี้คือท้าวสักกเทวราชปลอมตัวมาจึงได้ตอบตกลงในทันที  ท้าวสักกเทวราชจึงมีรับสั่งให้วิสสนุกรรมเทพบุตรไปขอเอาแก้วมณีโชติสีขาวที่ภูเขาวิบูลบรรณพตที่พวกกุมภัณฑ์เฝ้ารักษาอยู่  

   เมื่อวิสสนุกรรมเทพบุตรไปขอปรากฏว่าพวกกุมภัณฑ์ไม่ยอมให้ ในที่สุดท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์จึงต้องเสด็จไปขอด้วยพระองค์เอง พวกกุมภัณฑ์ทั้งหลายก็ไม่อาจขัดพระประสงค์ได้จึงยอมยกให้ แต่ยกแก้วอมรโกฏิที่มีสีเขียวให้ แต่แก้วมณีโชติที่มีสีขาวยกให้มิได้เพราะมันเป็นแก้วคู่บุญบารมีของพระเจ้าจักรพรรดิราช 

  พระอินทร์ไม่อยากขัดใจพวกกุมภัณฑ์ที่เฝ้ารักษาแก้วมณีโชติก็จำต้องยอมรับเอาแก้วอมรโกฏสีเขียวไปถวายพระนาคเสนเถระแทน พระเถระเมื่อได้แก้ววิเศษมาแล้วจึงได้จัดหาช่างแก้วที่มีฝีมือที่สุดในเมืองปัฏนามาทำการสร้าง พระอินทร์ก็ทรงอนุญาตให้วิสสนุกรรมเทพบุตรจำแลงกายเป็นช่างผู้เชี่ยวชาญลงไปช่วยในการสร้างด้วย  

   พระวิสสุกรรมเทพบุตรก็แปลงร่างเป็นช่างลงมาช่วยสร้างพระแก้วอมรโกฏเป็นพระแก้วมรกตจนสำเร็จ  เมื่อสร้างเสร็จแล้วพระนาคเสนเถระเจ้าจึงได้บรรจุพระบรมสาริกธาตุ ๗ องค์ไว้ในองค์พระแก้วมรกต คือบรรจุไว้ที่พระเกตุ (ศีรษะ) ๑ องค์   พระนลาฏ (หน้าผาก) ๑ องค์  พระนาภี (สะดือ) ๑ องค์  พระหัตถ์ซ้าย (มือซ้าย) ๑ องค์  พระหัตถ์ขวา (มือขวา) ๑ องค์  พระเพลาข้างซ้าย (เข่าซ้าย) ๑ องค์และพระเพลาข้างขวา (เข่าขวา) อีก ๑ องค์  รวมเป็น ๗ องค์  

   ครั้นสร้างสำเร็จแล้วพระนาคเสนก็ได้ตั้งชื่อว่า "พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต" แล้วก็ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนบุษบก ในตอนนี้มันทำให้เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นในขณะนั้นคือทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนท่านจึงได้พยากรณ์ว่า "ในกาลภาคหน้าต่อไปพระแก้วมรกตองค์นี้จะได้เสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายในประเทศต่างๆ เหล่านี้ คือ:-

    ๑.ประเทศศรีลังกา

    ๒.ประเทศกัมโพชะ 

    ๓.ประเทศศรีอโยธยา

    ๔.ประเทศโยนะวิสัย

    ๕.ประเทศปะมะละวิสัย

    ๖.ประเทศสุวรรณภูมิ 

    ปีพุทธศักราช ๘๐๐ ในแผ่นดินของพระเจ้าศิริกิตติกุมาร พระเชษฐราชโอรสในพระเจ้าตักละราช ขึ้นครองราชสมบัติที่เมืองปาฏลีบุตร เป็นช่วงที่เมืองปาฏลีบุตรเกิดมหากลียุคคือเกิดสงครามรบราฆ่าฟันกัน มีการจลาจลกันทั้งภายในและภายนอก ผู้คนในเมืองปาฏลีบุตรที่เคารพนับถือพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ได้นำเอาพระแก้วมรกตลงสู่เรือสำเภาแล้วออกเดินทางไปลี้ภัยที่ลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา) เมื่อถึงลังกาทวีปแล้วพระเจ้าแผ่นดินลังกาทวีปในสมัยนั้น ทรงรับรักษา พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกตเป็นอย่างดียิ่ง และทรงอุปถัมภ์ค้ำชูชาวเมืองปาฏลีบุตรที่นำพระแก้วมรกตมาเป็นอย่างดีตามความชอบ

    ปีพุทธศักราช ๑๐๐๐ ในแผ่นดินศรีเกษตรพุกามประเทศ(ประเทศพม่า) มีพระมหากษัตริย์ผู้ครองนครขณะนั้นชื่อ "พระเจ้าอนุรุทธะราชาธิราชหรือ พระเจ้ามังมหาอโนรธาช่อ(ภาษามอญ)" พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระอานุภาพมาก บริบูรณ์ด้วยพลช้างพลม้าและทหารมากมาย และพระองค์ก็เป็นกษัตริย์ที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง ทรงมีพระราชโองการ สั่งให้ส่งพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ ไปยังลังกาทวีป เพื่อขอคัดลอกพระไตรปิฎกและทูลขอพระแก้วมรกตด้วย กษัตริย์ที่ปกครองประเทศศรีลังกาในขณะนั้น

พระองค์ ทรงเห็นว่า "ถ้าเอาพระแก้วมรกตให้พระเจ้าอนุรุทธะราชาธิราชไปเก็บรักษาไว้คงจะปลอดภัย" เมื่อพระองค์ทรงคิดเห็นเช่นนี้แล้วก็ทรงมอบพระแก้วมรกตให้แก่คณะทูตจากจากพุกามประเทศ  เมื่อคณะทูตจากพุกามประเทศได้พระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกแล้วก็ออกเดินทางกลับประเทศ 

  ในขณะที่คณะทูตเดินทางกลับประเทศนั้นเกิดมีลมพายุพัดอย่างรุนแรงมากจนพัดเอาเรือสำเภาของคณะทูตไปสู่อ่าวกัมพูชา  พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์แห่งกัมพูชาจึงตรัสสั่งให้ข้าราชบริพารตรวจสอบดูว่าเป็นเรือของประเทศไหนและให้ตรวจสอบดูว่าในเรือมีอะไรบ้าง เมื่อตรวจสอบดูแล้วก็เห็นมีแต่พระไตรปิฎกและพระแก้วมรกต ๑ องค์ จึงได้กราบทูตให้พระเจ้านารายณ์ราชสุริยวงศ์ให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสให้ยึดเอาพระแก้วมรกตไว้ ส่วนที่เหลือให้ส่งคืนและให้นำเอาเรือไปส่งถึงประเทศพุกาม  

     พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่กรุงอินทปัตถ์นครแห่งกัมพูชานานพอสมควร พอถึงแผ่นดินของพระเจ้าเสน่ห์ราช เกิดมีพายุฝนขนาดใหญ่ตกติดต่อกันหลายเดือน พระเจ้าเสน่ห์ราชก็เสด็จสวรรคตด้วยอุทกภัยนั้น มีพระมหาเถระองค์หนึ่งในเมืองอินทปัตถ์นคร  ได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตขึ้นเรือสำเภาหนีไปยังที่ดอนที่อยู่ในเขตของเมืองอโยธยาเพราะท่านกลัวน้ำจะท่วมพระ 

    ฝ่ายพระเจ้าอาทิตยราช เจ้าผู้ครองเมืองอโยธยาในสมัยนั้น ทรงทราบเรื่องจึงได้เสด็จไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในที่ปลอดภัย โดยทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในพระมหาเวชยันตปราสาท และได้ประดิษฐานไว้ในเมืองอโยธยาเป็นเวลาหลายปี

ชื่อ "อโยธยา" เป็นชื่อของอาณาจักรโบราณซึ่งตั้งอยู่ตรงฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยาในปัจจุบัน เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่กว่ากรุงศรีอยุทธยาอยู่ในบริเวณนั้นมาก โดยการอ้างอิงจากหลักฐานเชิงตำนานและศิลาจารึกต่างๆ ซึ่งน่าจะเป็นรัฐหนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความใกล้ชิดกับรัฐละโว้ น่าจะเป็นรัฐเครือญาติกันกับเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเป็นเมืองศูนย์กลางในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแทนละเมืองโว้ซึ่งเป็นเมืองที่มีการคมนาคมไม่สะดวกเพราะแม่น้ำลพบุรีตื้นเขินบ่อยๆ

    ต่อมาเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพระบรมญาติกับกษัตริย์อโยธยาสมัยนั้น ทูลขอนำเอาพระแก้วมรกตขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณที่เมืองกำแพงเพชร พระแก้วมรกตจึงได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรอีกหลายปี ในปัจจุบันนี้ก็คือวัดพระแก้วกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 

   ต่อมาพระเจ้าพรหมมหาราชผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากือนาผู้ครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์เป็นเจ้าหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๓ หัวเมือง คือเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองเชียงแสน และเจ้าเมืองเมืองฝาง ได้ลี้ภัยจากการทำศึกสงครามกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน ได้ไปอาศัยอยู่กับพระยาญานดิส เจ้าเมืองกำแพงเพชรที่เป็นญาติกันในตอนนั้น  แต่ก่อนจะกลับไปเมืองเชียงราย ก็ได้ทูลขอพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงส์จากเจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองกำแพงเพชรก็ได้ทรงมอบให้ตามต้องการ  เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชชราภาพลงด้วยความห่วงในพระแก้วมรกต จึงได้เอาปูนพอกพระแก้วมรกตเอาไว้จนหนาทึบและทรงลงรักปิดทองเอาไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพื่อจะทำให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปรูปธรรมดาไม่มีค่าอะไร แล้วทรงบรรจุเก็บเอาไว้ในเจดีย์แห่งวัดป่าญะในเมืองเชียงรายโดยไม่มีใครรู้ว่าพระแก้วมรกตหายไปอยู่ที่ไหน จนกระทั่งเกิดอัสนีบาตคือฟ้าผ่าฟาดลงที่พระเจดีย์ทำให้เจดีย์พังทลายลงมาจึงได้พบพระแก้วมรกตที่ซ่อนอยู่ในทรากของพระเจดีย์นั้น

  ฝ่ายพระเจ้าแสนเมืองมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ หลังจากรบชนะพระเจ้าพรหมมหาราชผู้เป็นพระเจ้าอาแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ที่เมืองเชียงใหม่ แต่พระแก้วมรกตทรงหาไม่เจอ

     ครั้นต่อมาในสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. ๑๙๘๕–๒๐๓๑) ได้มีผู้พบพระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่งในเมืองเชียงราย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทองเอาไว้ ต่อมาปรากฏว่ามีรอยกะเทาะที่พระกรรณ (หู) ของพระพุทธรูปจึงได้รู้ว่าเป็นพระแก้วมรกต พระภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสจึงได้กะเทาะรักและทองออก แล้วจึงแจ้งให้เจ้าเมืองเชียงรายทราบ เมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบจึงได้เสด็จไปอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงรายเพื่อนำมาประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงใหม่ พอแห่มาถึงเมืองไชยสัก ปรากฏว่าช้างที่เป็นพาหนะไม่อาจรับน้ำหนักของพระแก้วมรกตที่เพิ่มขึ้นได้ จึงต้องอัญเชิญลงพักไว้แล้วให้คนไปทูลพระเจ้าติโลกราชให้ทรงทราบ  พระเจ้าติโลกราชทรงตระหนักในพระบารมีของพระแก้วมรกตดี พระองค์จึงได้ตรัสสั่งให้เขียนชื่อเมือง คือเมืองเชียงใหม่ เมืองหริภุญชัย เมืองพะเยา เมืองลำปาง แล้วให้จับฉลากดูว่า พระแก้วมรกตอยากไปอยู่เมืองไหน  ปรากฏว่าจับได้เมืองลำปาง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่าพระแก้วมรกตคงจะอยากเสด็จไปโปรดชาวลำปางก่อน พระองค์จึงทรงอนุญาตให้อัญเชิญไปเมืองลำปาง ปรากฏว่าน้ำหนักพระแก้วมรกตลดลงเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นหลังช้างได้โดยสะดวก ช้างก็เดินทางสู่นครลำปางอย่างราบรื่นดี เมื่อถึงนครลำปางแล้วจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าในเมืองลำปาง พระแก้วมรกตอยู่เมืองลำปางหลายปี  ต่อมาพระเจ้าติโลกราชจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่นครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๒  ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าพระแก้วมรกตเป็นของประเทศไทยมาก่อน

   ในสมัยต่อมาพระเจ้าติโลกราชทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าโพธิสาร ผู้เป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรมปกครองกรุงศรีสัตนาคนหุต คือเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาวในตอนนั้นได้เคารพนับถือและอุปถัมภ์ค้ำชูพระเถระชาวเมืองเชียงใหม่ที่ไปจำพรรษาและสั่งสอนญาติโยมที่เมืองหลวงพระบางเป็นอย่างดียิ่ง" 

   พระองค์มีความยินดีต่อพฤติกรรมของพระเจ้าโพธิสารเป็นอย่างยิ่งจึงได้พระราชทานพระราชธิดาทรงพระนามว่า "พระนางยอดคำทิพ" ให้เป็นพระอัครมเหสี (ภรรยา) ของพระเจ้าโพธิสาร  ต่อมาไม่นานพระราชธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่จึงมีพระราชโอรสกับพระเจ้าโพธิสาร ๓ องค์ คือ:-

    ๑.เจ้าเชษฐวังโส (พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช)

    ๒.เจ้าล้านช้างหรือท่าเรือ

    ๓.เจ้าวรวังโส

   ในปี พ.ศ. ๒๐๘๕ เมืองเชียงใหม่ได้เกิดกบฏจราจลวุ่นวายขึ้น พระไชยราชาธิราชจากกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าโพธิสารจากเมืองหลวงพระบางได้ยกทัพไปช่วยปราบกบฏ แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่าฝ่ายเชียงใหม่ได้ปราบกบฏได้เรียบร้อยแล้ว จึงได้แต่งตั้งพระนางจิรประภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่ยังหากษัตริย์ไม่ได้ พระเจ้าโพธิสารผู้เป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้เสนอให้พระราชโอรสคือเจ้าเชษฐวังโสซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากพระนางยอดคำทิพที่เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นพระมารดาขึ้นเป็นกษัตริย์  ขุนนางข้าราชการและเชื้อพระราชวงศ์ทางเชียงใหม่เห็นว่าเจ้าเชษฐวังโสเป็นหลานของพระเจ้าติโลกราชและเป็นคนมีลักษณะดีมีน้ำใจกล้าหาญคงจะปกครองบ้านเมืองได้ดีจึงตอบตกลง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเจ้าเชษฐวังโสจึงได้เป็นกษัตริย์ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๐๙๐ ทรงพระนามว่า"พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช" กล่าวได้ว่าเมืองล้านช้างเข้ามามีอิทธิพลต่อเมืองล้านนาเป็นอย่างมากในยุคนี้ ซึ่งมีพระเจ้าโพธิสารเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการรวมล้านนาและล้านช้างเข้าไว้ด้วยกันโดยให้บุตรชายได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ 

   ส่วนตนก็ได้ปกครองเมืองหลวงพระบางต่อไป ในช่วงนี้นับว่าแคว้นล้านช้างมีอำนาจเหนือแคว้นล้านนาทุกหัวเมือง

  พระเจ้าโพธิสารครองราชย์สมบัติมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๐๙๓ ก็เสด็จสวรรคตจากอุบัติเหตุในการไปการคล้องช้าง หลังจากพระองค์สวรรคตแล้วพระราชโอรสองค์รองของพระองค์คือเจ้าล้านช้างหรือเจ้าท่าเรือและเจ้าวรวังโสบุตรคนสุดท้องซึ่งเกิดแต่พระนางยอดคำทิพ อีกทั้งยังเป็นพระอนุชาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชอีกด้วย ได้เกิดแย่งชิงราชสมบัติกัน ในที่สุดขุนนางข้าราชการจึงต้องไปทูลเชิญเจ้าเชษฐวังโสกลับมาครองราชย์สมบัติที่หลวงพระบาง

     ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๐๙๕ จะมีการถวายพระเพลิงพระเจ้าโพธิสาร  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะต้องเสด็จไปถวายพระเพลิงพระราชบิดา  ก่อนจะเสด็จไปพระองค์จึงได้ตรัสกับขุนนางข้าราชการแห่งเมืองเชียงใหม่ว่า ข้าพเจ้าจำจะได้ไปถวายพระเพลิงพระราชบิดาในการไปครั้งนี้ข้าพเจ้าจะขออัญเชิญเอาพระแก้วมรกตไปด้วย  ขุนนางข้าราชการก็ไม่มีใครห้ามปราม  เมื่อถวายพระเพลิงพระราชบิดาเสร็จแล้ว พระองค์จะเสด็จกลับไปที่เมืองเชียงใหม่ยังไม่ได้ เพราะพระอนุชาทั้งสองพระองค์  จะเกิดรบราฆ่าฟันแย่งชิงราชสมบัติกัน ดูตามสถาณการณ์แล้วจะลงรอยกันยากเมื่อเป็นเช่นนี้ราชสมบัติของพระราชบิดาก็จะเกิดความพินาศฉิบหาย  พระองค์จึงตัดสินใจรับคำเชื้อเชิญของขุนนางข้าราชการแห่งเมืองหลวงพระบางให้เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองหลวงพระบางต่อจากพระราชบิดา  เมื่อพระองค์ตัดสินใจเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองหลวงพระบางแล้วจึงได้ตั้งเจ้าล้านช้างหรือเจ้าท่าเรือเป็นพระอุปราช ส่วนเจ้าวรวังโสแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมรักษาเมือง เรื่องเลวร้ายเกี่ยวกับพระอนุชาก็ยุติลง    พระองค์จึงมีราชสารส่งไปถึงขุนนางข้าราชการ ณ ที่เมืองเชียงใหม่ว่า พระองค์ไม่สามารถจะกลับไปครองเมืองเชียงใหม่ได้จึงขอลาออก ให้ขุนนางข้าราชการแต่งตั้งให้พระนางจิรประภาดำรงค์ตำแหน่งแทนต่อไป

   หลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ที่เมืองเชียงทองหรือหลวงพระบางได้ ๘ ปี พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้สร้างเมืองเวียงจันทน์ขึ้นเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๓

  ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเกิดศึกสงครามกับพม่าๆได้ชัยชนะจึงเผาตึกรามบ้านช่องวัดวาอารามในกรุงศรีอยุธยาพินาศหมดซึ่งมีหลักฐานให้ดูได้จนกระทั่งปัจจุบันนี้

  หลังจากกรุงศรีอยุธยาล้มสลายไปแล้ว ต่อมาพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้รวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากการยึดครองของพม่าข้าศึกได้สำเร็จ ภายในเวลา ๗ เดือน พระองค์จึงตั้งเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี

  ส่วนเจ้าเมืองเวียงจันทน์เมี่อเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้วจึงเกิดความกระด้างกระเดื่องไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพไปปราบปรามจนราบคาบและทรงมีรับสั่งว่าถ้าปราบปรามเมืองเวียงจันท์ได้แล้วให้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตที่เป็นของกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อนคืนมาด้วย 

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหลังจากปราบปรามบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อยแล้ว จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตกลับกรุงธนบุรี

   สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบจึงโปรดให้จัดกระบวนเรือแห่ไปรับเป็นการใหญ่ และให้จัดละคร โขน งิ้ว ลงเรือสามปั้น (กำปั้น) ไปแสดงในกระบวนแห่ แล้วโปรดให้สร้างโรงเรือนพระแก้วที่ด้านหลังพระอุโบสถวัดแจ้งคือวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต แล้วโปรดให้มีการฉลองสมโภชต่างๆ อยู่หลายวัน

      ครั้นสิ้นราชการสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงมีพระราชดำรัสให้อัญเชิญพระแก้วมรกตข้ามฟากมาอยู่ฝั่งตะวันออก ในครั้งนั้นโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พร้อมกับสร้างพระนครอยู่ ๒ ปี จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดอรุณราชวราราม มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรง จ.ศ. ๑๑๔๖ ตรงกับ วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๗ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะมาประชุมทำสังฆกรรมสวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น

     เมื่อการสร้างพระอารามเสร็จบริบูรณ์แล้ว ได้พระราชทานนามว่า "วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ต่อมาเมื่อตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและสมโภชพระอารามกับฉลองพระนคร ได้พระราชทานนามพระนครให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า 

"กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาบรมราชธานี” ด้วยเหตุดังนี้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตมาจนกระทั่งทุกวันนี้

สรูปพระแก้วมรกตไปประดิษฐานในประเทศต่างๆ ดังนี้

๑.ประเทศศรีลังกา

๒.ประเทศกัมโพชะ (ประเทศกัมพูชา)

๓.เมืองอโยธยา (ประเทศไทย)

๔.เมืองกำแพงเพชร (ประเทศไทย)

๕.เมืองลำปาง (ประเทศไทย)

๖.เมืองเชียงราย (ประเทศไทย)

๗.เมืองเชียงใหม่ (ประเทศไทย)

๘.เมืองหลวงพระบาง (ประเทศลาว)

๙.เมืองกรุงเทพมหานคร (ประเทศไทย)

         จบประวัติพระแก้วมรกตแต่เพียงเท่านี้